สวท.หนองบัวลำภู
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดพิธีมอบแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” โดยปลัดกระทรวงมหาดไทย แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด เพื่อนำไปมอบต่อให้กับกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้า และช่างหัตถกรรม ทั่วประเทศ

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดพิธีมอบแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” โดยปลัดกระทรวงมหาดไทย แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด เพื่อนำไปมอบต่อให้กับกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้า และช่างหัตถกรรม ทั่วประเทศ

วันที่ 9 มีนาคม 2566 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมวายุภักษ์ 5 - 6 ชั้น 5 โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชัน กรุงเทพมหานคร

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีมอบแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด เพื่อนำไปมอบต่อให้กับกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้า และช่างหัตถกรรม ทั่วประเทศ โดยมีดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสุภกิณห์ แวงชิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยนางสาวชัชดาพร บุญพีระณัช รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย นางวรสุดา รัตนสุคนธ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมในพิธีฯ

เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรจังหวัดพัทลุง และเสด็จทอดพระเนตรโครงการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของจังหวัด ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค โดยมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และกลุ่มสมาชิกโครงการศิลปาชีพ ประเภทผ้าและหัตถกรรม มากกว่า 200 กลุ่ม เข้าร่วมจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ และมีคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ข้าราชการในสังกัดกรมการพัฒนาชุมชน และกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP เฝ้ารับเสด็จฯ สำหรับพื้นที่ภาคใต้ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ทรงพระราชทานแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ให้แก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย, อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นของขวัญแก่ช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค เยาวชนคนรุ่นใหม่ และประชาชนคนไทยทุกคน ในการสืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาและงานหัตถศิลป์พื้นถิ่น ให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดินไทยอย่างยั่งยืน เนื่องในโอกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา ซึ่ง “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” เป็นลายผ้าที่พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายพื้นถิ่นภาคใต้ แล้วนำมาออกแบบผสมผสานกับ “ลายดอกรัก” ที่สื่อถึงความรักและกำลังใจที่พระองค์ทรงสร้างสรรค์ขึ้น ประกอบด้วย 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ประเภทผ้าบาติก ประเภทที่ 2 ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ประเภทผ้ามัดหมี่ ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนี้ มีลวดลายประกอบด้วย ตัวอักษร S สื่อถึงพระกรุณาธิคุณ พระวิสัยทัศน์ และพระอัจฉริยภาพในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถศิลป์พื้นถิ่น ให้มีที่ยืนในโลกใบใหม่ได้อย่างภาคภูมิ ลายดอกรักสี่ทิศ สื่อถึงความจงรักภักดีที่ช่างทอผ้า ทุกกลุ่มทุกเทคนิคจากทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ แสดงต่อพระองค์ และได้เทิดทูนพระองค์ไว้เหนือเกล้า เหนือกระหม่อมชั่วลูกสืบหลาน ลายดอกรักห้ากลีบ สื่อถึงจิต 5 ประการ ที่ถักทอผืนผ้าแห่ง ความสำเร็จ ได้แก่ ความเชี่ยวชาญ ความคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ความเคารพและเข้าใจ และความมีคุณธรรม และลายกระจังใจรัก สื่อถึงความรักและห่วงใยจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่มีต่อปวงชนชาวไทยอย่างอเนกอนันต์ สำหรับประเภทที่ 3 ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ประเภทผ้ายก มีลวดลายประกอบด้วย ตัวอักษร S ตัวใหญ่ สื่อถึงพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาการทอผ้าและงานหัตถศิลป์ไทยในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตัวอักษร S ตัวเล็ก สื่อถึงพระดำริที่ตั้งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ในสมเด็จย่าของพระองค์ ทางด้านการฟื้นคืนภูมิปัญญาการทอผ้าของไทยให้มีความร่วมสมัยและเป็นสากล ลายกรอบย่อมุม สื่อถึงภูมิปัญญาการทอผ้าและหัตถศิลป์ พื้นถิ่นที่มีเอกลักษณ์ จากทุกภูมิภาค ของประเทศไทย ที่ควรค่าแก่การรักษาไว้ให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน ลายดอกรักสี่ทิศ สื่อถึงความรักและศรัทธา ในงานถักทอผืนผ้าแห่งภูมิปัญญาพื้นถิ่น ด้วยสมองและสองมือของช่างทอผ้า ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ลายเชิงช่อดอกรัก สื่อถึงความรักและกำลังใจที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแก่ ช่างทอผ้า ผู้สืบสานภูมิปัญญาการทอผ้า และหัตถศิลป์พื้นถิ่นของไทยในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และผ้าบาติกลายพระราชทาน ลายที่ 4 ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โปรดเกล้าฯ ให้พัฒนา “ผ้าบาติกลายพระนามาภิไธยสิริกิติ์” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อครั้งโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2503 เพื่อให้มีความร่วมสมัยและเป็นสากล

จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Donkoi sustainable village ต้นแบบการพัฒนาสู่หมู่บ้านยั่งยืน” ใจความตอนหนึ่งว่า โครงการหนึ่งตําบลหนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน(Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในวาระทรงเจริญพระชนมายุ ครบ 3 รอบ 36 พรรษา ในวันที่ 8 มกราคม 2566 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนา

คุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development

Goals: SDGs) ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ภายใต้เป้าหมายการสร้างความยั่งยืนให้ครอบคลมในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง ขับเคลื่อนโดยผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เป็นผู้นำในการขับเคลื่อน สร้างทีมการพัฒนาแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยภาคีเครือข่ายทั้ง

7 เครือข่าย มาร่วมทีม ขับเคลื่อนงาน เกิดเป็นรูปธรรม ร่วมคัดเลือกหมู่บ้าน/ชุมชน เป้าหมายในการขับเคลื่อน"หมู่บ้านยั่งยืน" (Sustainable Village)

“การจะเป็นหมู่บ้านที่ยั่งยืนได้ พื้นที่ของทุกครัวเรือน ต้องน้อมนำเอาแนวพระดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ในโครงการปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางด้านอหารส่วนเรื่องของอาชีพให้น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้วัตถุดิบ หรือสิ่งที่จะ

นำไปประกอบอาชีพ มีความพยายามขวนขวายด้วยตนเอง เช่นเรื่องทำผ้าก็ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมด้วยตัวเอง ปลูกฝ้ายเอง ปลูกไม้ที่ให้สีธรรมชาติเอง รวมไปจนถึง โครงการบริหารจัดการขยะ คัดแยกขยะ การทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน”

นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ด้วยทรงมีความรัก ความผูกพัน และความห่วงใยราษฎรของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีวิถีชีวิตที่แวดล้อมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของระบบนิเวศ ด้วยทรงมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด หลักการทรงงานและแนวทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้านางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้มีอาชีพ มีรายได้ จากภูมิปัญญาอัตลักษณ์งานหัตถศิลป์หัตถกรรมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และพัฒนาต่อยอดโดยพระราชทานโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำมาเป็นแนวทางขับเคลื่อนการส่งเสริมพัฒนาทักษะของผู้ประกอบการผ้าอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของจังหวัดในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 จัดที่จังหวัดพัทลุง เพื่อประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ผลงานอัตลักษณ์ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในการจำหน่ายผ้าไทย ผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน และเสริมองค์ความรู้ ยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เทรนด์สีสัน และเทรนด์แฟชั่นผ้าไทย การออกแบบคอลเลกชั่นผ้าไทย การเลือกใช้เส้นใยที่มีคุณภาพ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผ้าไทย และการสร้างแบรนด์ จากผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพื่อให้สามารถผลิตผลงานที่สอดคล้องความต้องการของตลาด สามารถนำไปประกอบอาชีพได้และเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน และยังเป็นแบบอย่างในเรื่องการพัฒนาชุมชนโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมตามหลัก Bio-Circular-Green Economy: BCG สร้างความตระหนักให้รู้ถึงผลกระทบจากการใช้สีเคมีที่จะเกิดขึ้นกับคนทอผ้า คนย้อมผ้า และผู้สวมใส่ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการปลูกพืชให้สีชนิดต่าง ๆ ยังผลให้เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมฯ

ด้าน ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของพวกเราที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยทรงต่อยอดแนวคิดในการพัฒนาลวดลายผ้าให้แก่สมาชิกกลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค ทั่วประเทศ ซึ่งนับได้ว่าทรงเป็นแบบอย่างให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเสื้อผ้าไทยให้ทันสมัย สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส อันเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย ก่อให้เกิดรายได้สู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก โดยสมาคมแม่บ้านมหาดไทย น้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงรื้อฟื้นเรื่องผ้าไทย โดยทรงนำเอาวิชาการสมัยใหม่ในเรื่องของการออกแบบ packaging branding เข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพและมูลค่าของผ้า โดยเฉพาะผู้หญิงที่ไม่สามารถเลือกงานทำ แต่กลับมีชีวิตที่มีคุณภาพ มีรายได้ เลี้ยงดูครอบครัวได้ ทำให้วงการผ้าไทย มีลวดลายที่หลากหลาย เกิดการผสมผสานวัฒนธรรม มีความร่วมสมัยและเป็นสากล และขอเชิญชวนพวกเราคนไทยทุกคน ได้ร่วมกันภาคภูมิใจในความเป็นไทยด้วยการสวมใส่ผ้าไทยในทุกวัน ทุกโอกาส เพื่อทำให้ผ้าไทยได้มีชีวิตที่ยืนยาว คนทอผ้าได้มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้จุนเจือสมาชิกในครอบครัว อันทำให้คนไทยอีกหลายล้านคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar